นักวิจารณ์ด้านแฟชั่นหลายคนเปรียบแฟชั่นเสมือน
"ซอฟต์พาวเวอร์" แม้ว่าจะไม่มีผลทางตรงต่อการเมือง หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ที่แน่ ๆ ก็สร้างประเด็นทางความคิดได้แน่นอน เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้หลายแบรนด์หรูปฏิเสธที่จะดูแลการแต่งกายให้เมลาเนีย เนื่องจากต่อต้านนโยบายสุดโต่งของทรัมป์
การปรากฏกายของเผิงในรอบนี้ก็เปรียบเสมือนการประกาศจุดยืนกลายๆ ท่ามกลางรอยร้าวของสองมหาอำนาจ ชุดของสตรีหมายเลขหนึ่งที่แม้จะดูดั้งเดิมด้วยรูปแบบกี่เพ้า แต่ก็ดูโมเดิร์น จีนยังคงยึดมั่นความเป็นจีน แต่ก็พร้อมโอบรับความร่วมสมัย
นัยแฟชั่นยังเป็นมากกว่าความสง่างามของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง หรืออัตลักษณ์ทางชาติ เมื่อแฟชั่นขึ้นมาอยู่บนเรือนร่างของ "ผู้นำหญิง" อย่างนายกฯหญิงแห่งอังกฤษ "เทเรซา เมย์" เป็นหนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่น เธอปรากฏกายในเครื่องแต่งกายที่ทุกคนจับจ้องไม่วางตาเสมอ โดยเฉพาะรองเท้าที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นการประดับมุก ประดับพู่ หรือลายปริ้นต์ที่เธอชื่นชอบอย่างยิ่ง "ลายเสือดาว" ที่เธอมีตั้งแต่ส้นเตี้ยไปจนถึงส้นสูง
ความสำเร็จในการก้าวเข้ามาเป็นผู้นำหญิงแกร่งของเธอบ่งบอกว่าผู้หญิงที่เป็นผู้นำก็สนใจแฟชั่นได้ ลบล้างความคิดของสังคมที่ว่า ผู้หญิงที่ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงไร้สมอง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงแฟชั่นบางคนยังกล่าวด้วยว่า เมย์ใช้ทั้งทรงผมและการแต่งตัวของเธอเป็นกระบอกเสียงในทางหนึ่ง เธอมักจะเลือกชุดให้เหมาะกับสถานการณ์และสารที่เธอจะสื่อ เช่น หลายปีก่อนที่เธอเคยกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงเพื่อปลุกกระแสให้เกิดความเท่าเทียมกันในพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนโดยเธอสวมสูทสีน้ำเงินและชุดที่มีสายไม่สมมาตรกัน
ภาพลักษณ์ของเมย์ จะแตกต่างจาก "มาร์กาเร็ต แทตเชอร์" อดีตนายกฯหญิงคนแรกแห่งเกาะอังกฤษ หรือ "แองเกล่า แมร์เคิล" ผู้นำคนปัจจุบันแห่งเยอรมนี ทั้งคู่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่เก่งกาจในระดับประวัติศาสตร์ แต่การแต่งกายของสองสตรีจะไม่หวือหวา ไม่มีลูกเล่น ด้วยชุดสูทเรียบและแข็ง นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า นี่คือการสวมบทบาท "ผู้ชาย" เพื่อให้ความรู้สึกแข็งแกร่งและเด็ดขาดในการปกครองบ้านเมือง